คลัง ชงครม.ไฟเขียว “มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์” 2567

09 เมษายน 2567
คลัง ชงครม.ไฟเขียว “มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์” 2567

การประชุม ครม. วันนี้ กระทรวงการคลัง เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ปรับเงื่อนไขใหม่ช่วยคนอยากมีบ้าน

วันนี้ (9 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีวาระที่น่าสนใจ โดยกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ

สาระสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ นั้น จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง และเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาฯ

เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงมาตรการเดิมเกี่ยวกับการลดค่าจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม รวมทั้งการโอนและค่าจดจำนองให้กับอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจะเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ให้สอดคล้องสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ที่เหลือขายสะสมอยู่ในตลาดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของอยู่อาศัยเหลือขายในตลาด ส่วนอยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86%

ภายใต้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ จะมีการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากปกติ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จากปกติ 1% เหลือ 0.01% เพื่อสร้างแรงจูงใจในตลาดอสังหาฯ มากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า มาตรการนี้ จะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาฯ มูลค่าประมาณ 799,374 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้กว่า 118,413 ล้านบาทต่อปี เพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 464,971 ล้านบาทต่อปี และผลักดันให้ GDP เพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ ประมาณ 23,822 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลธรรมดาที่มีการสร้างบ้าน แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าก่อสร้างบ้าน เมื่อได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านกับผู้รับเหมาทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และต้องเริ่มก่อสร้างบ้านในหรือหลังวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568

โดยมูลค่าการหักลดหย่อนให้เป็นไปตามมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านที่เสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีการชำระอากรเป็นเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับกรมสรรพากร คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมครม.เสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 14.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมแถลงข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ด้วย


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.